.:หน่วยที่ 4:.


จิตวิทยาการเรียนการสอน

             จิตวิทยาการศึกษามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา การสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล นักการศึกษาและครูจำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทาง
จิตวิทยาการศึกษา    เพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการ

            สอนเหมือนกับวิศวกรที่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์   โดยทั่วไปแล้ว เนื้อหาของจิตวิทยาการศึกษาที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับครูและนักการศึกษาประกอบไปด้วย

            ๑ความสำคัญของวัตถุประสงค์ของการศึกษาและบทเรียน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เน้นความสำคัญของความแจ่มแจ้งของการระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษา บทเรียน ตลอดจนถึงหน่วยการเรียน เพราะวัตถุประสงค์จะเป็นตัวกำหนดการจัดการเรียนการสอน
            ๒ทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่นักการศึกษาและครูจะต้องมีความรู้      เพราะ จะช่วยให้เข้าใจเอกลักษณ์ของผู้เรียนในวัยต่างๆ โดยเฉพาะวัยอนุบาล วัยเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งเป็น
วัยที่กำลังศึกษาในโรงเรียน

            ๓ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่ม นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ แล้ว     นักการศึกษาและครูจะต้องเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทางด้านระดับเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอน และในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม

            ๔ทฤษฎีการเรียนรู้  นักจิตวิทยาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ นอกจากจะสนใจว่าทฤษฎีการเรียนรู้จะช่วยนักเรียนให้เรียนรู้และจดจำอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรแล้ว ยังสนใจองค์ประกอบเกี่ยวกับตัวของ    ผู้เรียน  เช่น แรงจูงใจว่ามีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างไร ความรู้เหล่านี้ก็มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน

            ๕ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษา นักจิตวิทยาการศึกษาได้เป็นผู้นำในการบุกเบิกตั้งทฤษฎีการสอน ซึ่งมีความสำคัญและมีประโยชน์เท่าเทียมกับทฤษฎีการเรียนรู้และพัฒนาการในการช่วยนักการศึกษาและครูเกี่ยวกับการเรียนการสอน สำหรับเทคโนโลยีในการสอนที่จะช่วยครูได้มากก็คือ คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน
            ๖หลักการสอนและวิธีสอน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอนตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือ เช่น หลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม และมนุษย์นิยม 

            ๗หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้นักการศึกษา และครูทราบว่า การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของ      แต่ละวิชาหรือหน่วยเรียนหรือไม่   เพราะถ้าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลสูง ก็จะเป็นผลสะท้อนว่าโปรแกรมการศึกษามีประสิทธิภาพ

การจูงใจ (Motivation)   คืออะไร มีผู้ให้คำจำกัดความของการจูงใจไว้ดังนี้
            ๑การจูงใจ  คือขบวนการทางจิตใจที่ผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จ และถูกต้องตามแนวทางที่ต้องการ

            ๒การจูงใจ  หมายถึงแรงซึ่งส่งเสริมให้เด็กทำงานจนบรรลุถึงความสำเร็จ และแรงนี้ย่อมนำทางให้เด็กทำงานไปในแนวที่ถูกต้องด้วย

            ๓การจูงใจ  หมายถึงพฤติกรรมที่สนองความต้องการของมนุษย์ และเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่        จุดหมายปลายทาง

            สุขภาพจิต  หมายถึงคุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่จะปรับตัวให้มีความสุขอยู่กับสังคมได้ดี   พอสมควรและสามารถจะสนองความต้องการของตนเองในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและ  สิ่งแวดล้อมอื่นโดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในจิตใจมากนักคนที่สุขภาพจิตดี จะสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ในระดับที่เหมาะสม สามารถลดความวิตกกังวลอันเนื่องมาจากการแก้ปัญหาหรือเนื่องมาจากความขัดแย้งด้วยวิธีการที่สมเหตุสมผลและไม่ใช้  กลวิธานป้องกันตนเองอย่างใดอย่างหนึ่งนานๆ หรือรุนแรงจนเกินไป
ความหมายของทัศนคติ

            ทัศนคติ (Attitude)   หมายถึงความรู้สึกและท่าทีของคนเราที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกในทางชอบ ไม่ชอบและมีผลทำให้บุคคลพร้อมที่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้นตามความรู้สึกดังกล่าวองค์ประกอบทัศนคติจากความหมายของทัศนคติที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ทัศนคติประกอบไปด้วย

            ๑องค์ประกอบทางด้านความคิด (Cognitive Component) ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ของบุคคล  ต่อสิ่งของ บุคคลหรือเหตุการณ์ต่างๆ ถ้าเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างดีอย่างแท้จริงและเกิดทัศนคติในทางที่ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดการรับรู้ในทางที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ยากไป ก็จะมีทัศนคติไม่ดีต่อสิ่งนั้น        

            ๒องค์ประกอบทางด้านความรู้สึก  (Affective Component) เป็นสภาพทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่บุคคลถูกเร้าจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งถ้าเราชอบ สบายใจ สนุก ก็จะเกิดทัศนคติที่ดีแต่ถ้าไม่ชอบ ไม่สนุก ถูกดูหมิ่น  ถูกเยาะเย้ย ก็จะมีทัศนคติในทางที่ไม่ดี

            ๓องค์ประกอบทางด้านแนวโน้มของการกระทำ (Action Tendency Component)  เป็นทิศทางของการตอบสนองหรือการกระทำในทางใดทางหนึ่งซึ่ง เป็นผลมาจากองค์ประกอบด้านความคิดและความรู้สึก ของบุคคลต่อสิ่งเร้า ถ้ารู้ว่าดี เรียนแล้วเข้าใจ เรียนแล้วสนุก มีแนวโน้มจะเข้าเรียนตลอดเวลา สนับสนุน ส่งเสริม เป็นพวกด้วยหรือร่วมกิจกรรมด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าเรียนแล้วไม่เข้าใจ ยาก ไม่สนุก  ถูกดุว่า ถูกดูหมิ่น เพื่อนหัวเราะเยาะก็มีแนวโน้มจะไม่อยากเข้าเรียน คอยหลบหน้า คอยต่อต้านขัดขืนและไม่ร่วมกิจกรรมด้วย
ความสนใจกับการเรียนรู้

            ความสนใจ (Interest) เป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติ กล่าวคือเป็นความรู้สึกในทางที่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้แนวโน้มของพฤติกรรมเป็นในทางที่ดี เช่น ถ้าเด็กสนใจคณิตศาสตร์ จะเข้าเรียนทุกชั่วโมงและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปเพื่อวิชานี้ มากกว่าอย่างอื่นความสนใจของบุคคลจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความถนัด รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นสำคัญ

            ๑ต้องศึกษาถึงความต้องการของผู้เรียนโดยส่วนใหญ่ว่าเป็นอย่างไร จะได้จัดบทเรียน สภาพห้องเรียน สื่อการเรียนต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของเขา

            ๒ก่อนจะสอนเรื่องใดควรสำรวจความสามารถพื้นฐานตลอดจนความถนัดของผู้เรียนก่อน  เพื่อจัดสิ่งเร้าให้ตรงกับที่เขาต้องการ

            ๓จัดสภาพห้องเรียนให้น่าสนใจ ตั้งคำถามยั่วยุและท้าทายความสามารถของนักเรียน ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวกับสภาพการณ์บางอย่างที่เป็นปัญหา ที่แปลกไปจากเดิม เป็นต้น

            ๔ให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในงานที่ทำบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาทำงานระดับสูงต่อไป โดยเลือกงานที่เหมาะกับความสามารถและความถนัดของผู้เรียน จะช่วยให้เขาสนใจงานที่มอบหมายให้ทำ

            ๕ชี้ทางหรือรายงานผลความก้าวหน้าของผู้เรียนให้ทราบเป็นระยะๆ ให้เขาได้ทราบว่าเขาก้าวมาถึงไหนแล้ว อีกไม่กี่ขั้นก็จะถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการแล้ว จะทำให้เขาตั้งใจทำเพื่อผลสำเร็จของตัวเขาเอง

            ๖ฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเขาบ้าง จากการศึกษานอกสถานที่ จากการสังเกต หรือจากการสัมภาษณ์ สอบถามจากแหล่งวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนการทดลองค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง ด้วยวิธีการเรียนแบบสืบสวนสอบสวน หรือให้นักเรียนฝึกเป็นผู้นำและผู้ตามได้ในโรงเรียน หรือนอกห้องเรียน โดยให้นักเรียนเป็นผู้ดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการฝึกวินัยด้วยตัวของนักเรียนเอง

อ้างอิง

ไม่มีความคิดเห็น: